เปิดทำการ จันทร์ - ศุกร์ 08.00 - 17.00

ติดตามเราได้ที่ :
change to thai change to eng

IRRS Q & A

คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

  • โซล่าเซลล์ คืออะไร ?

    โซล่าเซลล์ (Solar Cell) คือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีคุณสมบัติในการเปลี่ยนพลังงานจากแสงอาทิตย์ไปเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งพลังงานแสงอาทิตย์ จัดว่าเป็น พลังงานสะอาดจากธรรมชาติที่ดีที่สุด เพราะนอกจากจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว โซล่าเซลล์ ยังเป็น “พลังงานทางรอด” ที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขวิกฤตพลังงานที่โลกของเรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ทั้งยังเป็นพลังงานที่ทุกคนเข้าถึงได้จริง และสามารถใช้ได้อย่างไม่จำกัด โดยไม่มีผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตใดๆ ด้วยเหตุนี้ โซล่าเซลล์ จึงเป็นทางรอดของเป้าหมาย SDGs7 Affordable and Clean Energy ที่ต้องการผลักดันให้ทุกคนหันมาใช้พลังงานสะอาด และทำให้ทุกๆ พื้นที่บนโลกรอดพ้นวิกฤติพลังงาน และเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าได้อย่างยั่งยืนในราคาที่เหมาะสม

  • แผงโซล่าเซลล์ ทำมาจากอะไร ?

     การผลิตแผงโซล่าเซลล์ในปัจจุบัน นิยมใช้ซิลิคอน (Si) ซึ่งมีราคาถูกที่สุดและมีมากที่สุดบนพื้นโลกมาผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อผลิตให้เป็นแผ่นบางบริสุทธิ์ เพื่อใช้เป็นวัสดุสำคัญในการผลิตแแผงโซล่าเซลล์ นอกจากนี้ ยังมีวัสดุอื่นๆ ที่สามารถนำมาผลิตโซล่าเซลล์ได้ เช่น แกลเลี่ยม อาร์เซไนด์ (Gallium Arsenide), อินเดียม ฟอสไฟด์ (Indium Phosphide), แคดเมียม เทลเลอไรด์ (Cadmium Telluride) และคอปเปอร์ อินเดียม ไดเซเลไนด์ (Copper Indium Diselenide) เป็นต้น

    แผงโซล่าเซลล์ ประกอบด้วย 2 เลเยอร์ คือ
    1) N-Type คือ แผ่นซิลิคอนที่ผ่านกระบวนการโดปปิ้งด้วยสารฟอสฟอรัส ทำให้มีคุณสมบัติเป็นตัวส่งอิเล็กตรอน เมื่อได้รับพลังงานจากแสงอาทิตย์
    2) P-Type คือ แผ่นซิลิคอนที่ผ่านกระบวนการโดปปิ้งด้วยสารโบรอน ทำให้โครงสร้างของอะตอมสูญเสียอิเล็กตรอน (โฮล) เมื่อได้รับพลังงานจากแสงอาทิตย์ จะมีคุณสมบัติเป็นตัวรับอิเล็กตรอน ซึ่งเมื่อนำซิลิคอนทั้ง 2 ชนิด มาประกบต่อกันด้วย p – n junction จึงทำให้เกิดเป็น ”โซล่าเซลล์”
    หลักการทำงานของแผงโซล่าเซลล์ คือ เมื่อมีแสงอาทิตย์ตกกระทบ แสงอาทิตย์จะถ่ายเทพลังงานให้กับอิเล็กตรอน และโฮล ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวขึ้น โดยอิเล็กตรอน ก็จะเคลื่อนไหวไปรวมตัวกันที่ Front Electrode และโฮลก็จะเคลื่อนไหวไปรวมตัวกันที่ Black Electrode และเมื่อมีการเชื่อมต่อระบบจนครบวงจรขึ้น ก็จะเกิดเป็นกระแสไฟฟ้าให้เราสามารถนำไปใช้งานได้
  • ระบบโซล่าเซลล์ ประกอบด้วยอะไรบ้าง ?

     ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ประกอบด้วยอุปกรณ์หลัก ดังนี้ แผงโซล่าเซลล์ (Solar Panel), เครื่องแปลงประแสไฟฟ้า (Inverter),ระบบตรวจสอบกำลังการผลิต(Monitoring), ตู้ควบคุมระบบป้องกันทางไฟฟ้า กันฟ้าผ่า (Control Box), สายไฟและท่อร้อยสายไฟ (Wiring), มิเตอร์ไฟฟ้า (Meter)

  • ระบบ Off Grid และ On Grid คืออะไร ?

    On grid เป็นระบบผลิตไฟฟ้าโซล่าที่ยังต่อเข้ากับระบบส่งหรือจำหน่ายของการไฟฟ้า เนื่องมาจากการที่ระบบผลิตไฟฟ้าฯ ต้องขายไฟฟ้าเข้าระบบไฟฟ้า เช่น โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Power Producer: SPP) หรือ โรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Very Small Power Producer: VSPP) หรือ เนื่องมาจากสถานที่ที่ติดตั้งระบบผลิตฯ แบบนี้สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้ แต่ต้องการลดค่าไฟฟ้า จึงตัดสินใจติตดั้งระบบผลิตไฟฟ้าโซล่า

    Off grid หรือ Standalone คือ ระบบผลิตไฟฟ้าโซล่าที่ไม่ได้ต่อเข้ากับระบบส่งหรือจำหน่ายของการไฟฟ้า ส่วนใหญ่สถานที่ที่ใช้ระบบดังกล่าวจะเป็นพื้นที่ที่ห่างไกล เช่น บนเกาะ บนภูเขา ซึ่งไฟฟ้ามักจะเข้าไม่ถึง เนื่องมาจากการสร้างระบบส่งไม่คุ้มค่าในการลงทุน ทั้งนี้ ระบบ Off grid อาจมีอุปกรณ์เสริม เช่น Battery เพื่อเก็บไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซล่าในช่วงกลางวันมาใช้ในช่วงกลางคืน

  • วิธีดูแลแผงโซล่าเซลล์หลังการติดตั้ง มีอะไรบ้าง ?

     ควรหมั่นทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์อยู่เสมอ ไม่ควรปล่อยให้มีฝุ่นหรือสิ่งสกปรกต่างๆ อยู่บนแผงนานเกินไป เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของระบบลดต่ำลง

  • ระบบโซล่าเซลล์ ประกอบด้วยอะไรบ้าง ?

     ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ประกอบด้วยอุปกรณ์หลัก ดังนี้ แผงโซล่าเซลล์ (Solar Panel), เครื่องแปลงประแสไฟฟ้า (Inverter),ระบบตรวจสอบกำลังการผลิต(Monitoring), ตู้ควบคุมระบบป้องกันทางไฟฟ้า กันฟ้าผ่า (Control Box), สายไฟและท่อร้อยสายไฟ (Wiring), มิเตอร์ไฟฟ้า (Meter)

  • อายุการใช้งานของแผง อยู่ได้นานกี่ปี ?

    โดยทั่วไป แผงโซล่าเซลล์มีการรับประกันจากผู้ผลิตว่าสามารถใช้งานได้ถึง 25 ปี โดยประสิทธิภาพไม่ต่ำกว่า 80% ส่วนแผงโซล่าเซลล์ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 25 ปีเป็นต้นไป ประสิทธิภาพจะลดลงตามอายุการใช้งานและการบำรุงรักษา

  • จะมีการเก็บภาษีผู้ใช้โซล่าเซลล์หรือไม่ ?

      แนวทางการเก็บภาษีตามหลักเศรษฐศาสตร์ คือ การเก็บจากผู้ที่สร้างภาระต้นทุนให้แก่ส่วนรวม (Externality) สำหรับกรณีโซล่าเซลล์ เหตุผลที่อาจจะเก็บภาษีได้คือเรื่องขยะแผงโซล่าเซลล์ที่หมดอายุแล้ว ซึ่งถ้าเอาไปกำจัดไม่ถูกวิธีก็อาจทำให้มีการรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม ดังนั้น ถ้ามีการบริหารจัดการเรื่องขยะโซล่าเซลล์ตามแนวทางของกระทรวงอุตสาหกรรม ก็สามารถเก็บภาษีเพื่อมาเป็นกองทุนในการจัดการขยะโซล่าเซลล์ได้

    ส่วนการเก็บภาษีโซล่าเซลล์ด้วยเหตุผลว่า โซล่าเซลล์เพิ่มภาระให้แก่ระบบไฟฟ้า จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าโซล่าเซลล์สร้าง Net Cost (Benefit < Cost) ต่อระบบไฟฟ้า ซึ่งน่าจะเป็นไปได้ยาก
  • โซล่าเซลล์ ติดตั้งที่ไหนได้บ้าง ?

      ติดได้ทุกที่ที่มีแสงอาทิตย์ แต่ที่นิยมกันคือการติดตั้งบนพื้นดิน บนหลังคา รวมถึงการติดตั้งบนหลังคาจอดรถ (Carport), กันสาด (Canopy) และปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ติดตั้งบนน้ำ (Floating Solar)

  • ตำแหน่งใดเหมาะสมที่สุด สำหรับการติดตั้งโซล่าเซลล์ ?

      เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด ควรหันแผงไปทางทิศใต้ มุมเอียง 10-15 องศา หากไม่มีความจำเป็นควรหลีกเลี่ยงการหันแผงไปทางทิศเหนือ และควรติดตั้งแผงในจุดที่ไม่มีร่มเงาต้นไม้ หรือสิ่งก่อสร้างบัง 

  • หลายคนบอกว่า ติดโซล่าเซลล์แล้ว ไฟฟ้าลัดวงจร เกิดจากอะไร ?

      เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น แผงโซล่าเซลล์เกิดปัญหา Hot Spot, ได้รับการติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐาน, แผงโซล่าเซลล์ขาดการดูแลซ่อมบำรุงที่เหมาะสม ฯลฯ ดังนั้น ในการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ การใช้บริการจากบริษัทที่ได้มาตรฐานจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

  • เราเก็บไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ ไว้ใช้ตอนกลางคืนได้หรือไม่ อย่างไร ?

      ด้วยเทคโนโลยีตอนนี้ เราสามารถใช้แบตเตอรี่เก็บพลังงานไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ไว้ใช้ตอนกลางคืนได้ ทั้งนี้ ในกรณีที่ต้องการติดตั้งระบบที่พึ่งพาตัวเอง 100% ก็ต้องติดตั้งแผงโซล่ามากขึ้น เพื่อให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอต่อความต้องการ โดยกักเก็บไฟไว้ในแบตเตอรรี่ที่มีขนาดใหญ่พอ เหมือนถ้าเราเป็นคนใช้มือถือหนักมาก และต้องการใช้งานทั้งวัน ก็ต้องใช้พาวเวอร์แบงค์ขนาดใหญ่ อย่างไรก็ดี ราคาแบตเตอรี่สำหรับเก็บไฟฟ้าขนาดใหญ่ยังมีราคาสูงมากอยู่

  • หากติดโซล่าเซลล์แล้ว อันตรายจากหลังคาพังถล่มจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ?

      มีความเป็นไปได้ หากการติดตั้งไม่ได้ถูกออกแบบอย่างถูกต้อง เพราะฉะนั้น ควรใช้บริการบริษัทรับติดตั้งที่ได้มาตรฐาน และก่อนการติดตั้ง จำเป็นต้องมีวิศวกรสำรวจโครงสร้างอาคาร เพื่อทำการออกแบบให้เหมาะสมกับโครงสร้างและชนิดของหลังคา นอกจากนี้ การติดตั้งโซล่าเซลล์ ควรมีพื้นที่หลังคาพอให้สามารถเข้าถึงแผงได้เพื่อการซ่อมบำรุงในภายหลัง

  • แผงโซล่าเซลล์จะเป็นขยะในอนาคตจริงหรือไม่ ?

     สิ่งที่หลายๆ คนยังไม่รู้เกี่ยวกับ แผงโซล่าเซลล์ที่หมดอายุ คือ

    1) กกพ. กำหนดให้ผู้ประกอบการติดตั้งโซล่าเซลล์ที่ได้มาตรฐานจะต้องมีระบบการดูแลแผงโซล่าเซลล์เมื่อหมดอายุควบคู่ไปด้วย
    2) ส่วนประกอบหลักของแผงโซล่าเซลล์คือ "ทราย" และ "แก้ว" ซึ่งมีกระบวนการ Recycle อยู่แล้ว สารเคมีประกอบน้อยมาก
    3) ส่วนประกอบต่างๆ ที่ใช้ผลิตแผงโซล่าเซลล์ เช่น โครงอลูมิเนียม สายไฟ กระจกใสปิดด้านหน้า สามารถนำไป Recycle ได้ และมีแหล่งรับซื้อ
    4) ชิ้นส่วนเดียวของแผงโซล่าเซลล์ที่ต้องทำลายทิ้งคือ "เซลล์รับแสง" เท่านั้น
    ซึ่งระยะการใช้งานโซล่าเซลล์อยู่ที่ 20-25 ปี หลังจากนี้จะยังใช้งานได้อยู่ แต่ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจะลดลง เรื่องรีไซเคิลเป็นเรื่อง Demand - Supply ถ้ามีคนติดตั้งเยอะ ก็จะเกิดโรงงานรีไซเคิลเยอะขึ้น สอดคล้องตามนโยบายที่การคาดการณ์ว่าเมื่อแผงโซล่าเซลล์หมดอายุการใช้งานก็อาจจะกลายมาเป็นขยะพลังงานมากมายมหาศาล โดยภายในปี พ.ศ. 2565 - 2601 ซากแผงโซล่าเซลล์สะสม อาจสูงถึง 6.2 -7.9 แสนตัน ที่ก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต
    ด้วยเหตุนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงหาแนวทางที่จะลดปัญหามลพิษก่อนกำจัดซากแผงโซล่าเซลล์ 3 แนวทาง ได้แก่
    1) การรับคืนแผงโซล่าเซลล์ที่หมดอายุ
    2) การเปิดโรงงานซ่อมแซมแผงโซล่าเซลล์เพื่อนำกลับมาใช่ใหม่
    3) การรับซากแผงโซล่าเซลล์กลับมาผ่านกระบวนการรีไซเคิล
    พร้อมมีแนวคิดให้มีการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในการขออนุญาตจัดตั้งโรงงานซ่อมแซมแผงโซล่าเซลล์และโรงงานรีไซเคิล ซากแผงโซล่าเซลล์ โดยมีเป้าหมาย ที่จะจัดตั้งโรงงานใน 10 จังหวัดปริมณฑลและตามหัวเมืองในแต่ละภูมิภาค จังหวัดละ 10 แห่งในช่วงแรกคาดว่าจะมีโรงงานทั้ง 2 ประเภทรวมกันประมาณ 100 แห่ง
    กรมโรงงานอุตสาหกรรม คาดการณ์ว่าจากการประเมินปีที่เริ่มมีการติดตั้ง พ.ศ.2545 – 2579 จะเกิดซากเซลล์สะสมประมาณ 7.5 แสนตัน (ปีที่เกิดซาก พ.ศ. 2560 – 2604) จึงได้ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทในการจัดการซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ : เซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell) โดยมุ่งผลักดันการจัดตั้งโรงงานรีไซเคิลซากโซล่าเซลล์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างคุ้มค่า รวมถึงได้วางแนวทางการบูรณาการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการจัดการซากเซลล์แสงอาทิตย์อย่างครบวงจร (*ข้อมูลจาก กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม)
  • การติดตั้งโซล่าเซลล์ สามารถลดการสร้างมลพิษได้แค่ไหน ?

      Solar Cell 1 กิโลวัตต์ (ขนาดแผงโซล่า 120 X 60 เซนติเมตร จำนวน 10 แผง) ผลิตไฟฟ้าได้ 1,300 kWh/yr (หน่วยต่อปี

    การคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก GHG emissions = Activity Data x Emission Factor
    = 1,300 kWh x 0.6933 kgCO2e/kWh
    = 901.3 kgCO2e
    ดังนั้น Solar Cell 1 กิโลวัตต์ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้ 901.3 kgCO2e ต่อปี หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ประมาณ 101 ต้น (การปลูกต้นไม้ยืนต้น 1 ต้น สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 8 กิโลกรัมต่อปี)
  • ติดตั้งโซล่าเซลล์ ขนาดเท่าไร ถึงจะคุ้ม ?

     ขนาดของโซล่าเซลล์ตามท้องตลาดที่นิยมติดกันอยู่ที่ประมาณ 3 kWp ขึ้นไป และเพื่อความคุ้มค่าในการติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ ควรติดตั้งขนาดของระบบไม่สูงไปกว่าค่าความต้องการกำลังไฟฟ้าฐานในช่วงกลางวัน (Base Load) เพราะจะทำให้ผู้ติดตั้งสามารถใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    ทั้งนี้ การติดตั้งระบบโซล่าเซลล์จะมีต้นทุนคงที่ เช่น ค่าแรงติดตั้งระบบ เป็นต้น ซึ่งต้นทุนดังกล่าวไม่แปรตามขนาด ดังนั้น ขนาดโซล่าเซลล์ต่ำกว่า 3 kWp ก็ติดตั้งได้เช่นกัน แต่ต้นทุนเฉลี่ยต่อ kWp ก็จะสูงขึ้น
  • ค่าบำรุงรักษาโซล่าเซลล์ จะคุ้มการติดตั้งหรือไม่ ?

     สำหรับค่าบำรุงรักษาแผงโซล่าเซลล์ เช่น ค่าทำความสะอาดแผง ค่าเปลี่ยน Inverter ฯลฯ จะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพการใช้งานและชนิดอุปกรณ์ที่เลือกใช้

  • โซล่าเซลล์ ช่วยประหยัดค่าไฟได้จริงหรือไม่ ?

     การติดตั้งโซล่าเซลล์สามารถช่วยประหยัดค่าไฟได้จริง ขึ้นอยู่กับขนาดของแผงที่ติดตั้งและกำลังการผลิตไฟฟ้า โซล่าเซลล์สามารถแปลงเป็นไฟฟ้าไว้ใช้ใในช่วงเวลากลางวัน ช่วยลดค่าไฟได้สูงถึง 40% ต่อเดือน

  • ติดตั้งโซล่าเซลล์จำนวนมาก ผิดกฎหมายหรือไม่ ?

     ในการติดตั้งหลังคาโซล่าเซลล์ บริษัทที่รับติดตั้งจะต้องทำเรื่องขออนุญาต และคำนวณจำนวนการติดตั้งไม่ให้เกินขนาดหม้อแปลงในพื้นที่นั้นๆ อยู่แล้ว

  • การติดตั้งโซลล่าเซลล์ ดีต่อธุรกิจคุณอย่างไร ?

    "ค่าไฟฟ้า" ถือเป็นต้นทุนรูปแบบหนึ่งในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งการติดตั้งโซล่าเซลล์นั้นจะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้ามากถึง 40% ต่อเดือน

  • หากแสงแดดไม่เพียงพอ จะมีผลกระทบต่อกระแสไฟของโซล่าหรือไม่ ?

    ระบบโซล่าจะผลิตไฟฟ้าตามช่วงความเข้มแสง ถ้ามีความเข้มแสงที่เหมาะสม ระบบโซล่าจะผลิตไฟฟ้าได้เต็มประสิทธิภาพ 

  • การลงทุนกับโซล่าเซลล์ จะคืนทุนภายในระยะเวลาเท่าใด ?

    โดยทั่วไปการลงทุนติดตั้งระบบโซล่า จะคืนทุนในระยะเวลา 3-6 ปี ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ปริมาณการใช้ไฟฟ้า หรือธุรกิจของคุณได้รับการส่งเสริมต่างๆ เช่น อัตราดอกเบี้ยพิเศษจากสถาบันการเงิน หรือมาตรการการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งสมารถเสมือนช่วยลดการลงทุนถึง 50%

  • โซล่าเซลล์สามารถติดตั้ง แล้วทำการขายไฟให้กับรัฐบาลได้หรือ ?

    ปัจจุบัน ภาครัฐมีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากการใช้งานจากประเภทที่อยู่อาศัย ที่มีกำลังติดตั้งไม่เกิน 10 กิโลวัตต์เท่านั้น

  • การบำรุงรักษา หลังการติดตั้ง สามารถทำได้อย่างไร ?

    การบำรุงรักษาแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive maintenance) และการบำรุงรักษาเชิงแก้ไขปรับปรุง (Corrective Maintenance) ซึ่งทั้ง 2 ประเภทควรให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ดำเนินการ เพื่อให้ระบบโซล่าทำงานได้เต็มประสิทธิภาพตลอดอายุการใช้งาน

  • แผงโซล่าเซลล์ มีโอกาสโดนฟ้าผ่าหรือไม่ ?

    ระบบโซล่าจะถูกออกแบบให้มีระบบป้องกันฟ้าผ่า ซึ่งเป็นไปตามหลักวิศวกรรม

  • ติดตั้งโซล่าเซลล์บนหลังคา ทำให้อาคารร้อนขึ้นจริงหรือไม่ ?

     การติดตั้งระบบโซล่าเซลล์บนหลังคาจะไม่ทำให้ภายในอาคารร้อนขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดอุณหภูมิภายในอาคาร และลดการทำงานของระบบปรับอากาศได้อีกด้วย ทั้งนี้เพราะแผงโซล่าเซลล์จะเป็นปราการแรกที่สัมผัสกับแสงอาทิตย์จึงสามารถช่วยกรองแสงส่วนหนึ่งได้ก่อนความร้อนและแสงจะส่องถึงหลังคาอาคาร

  • ข้อจำกัดของพลังงานแสงงอาทิตย์ มีอะไรบ้าง ?

      พลังงานแสงอาทิตย์ จัดเป็นพลังงานทดแทนประเภทพลังงานหมุนเวียนที่ใช้แล้วเกิดขึ้นใหม่ได้ตามธรรมชาติ เป็นพลังงานที่สะอาด ปราศจากมลพิษ และเป็นพลังงานที่มีศักยภาพสูง อย่างไรก็ตาม พลังงานแสงอาทิตย์มีข้อจำกัดเรื่องความไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ จากการพัฒนาแผนที่ศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์ฉบับใหม่สำหรับประเทศไทย ปี 2560 พบว่า การกระจายตามพื้นที่ของรังสีดวงอาทิตย์ในแต่ละเดือนได้รับอิทธิพลของลมมรสุมและลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ โดยเดือนเมษายนเป็นช่วงเวลาที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศได้รับรังสีดวงอาทิตย์สูงสุด สำหรับการกระจายตามพื้นที่รังสีดวงอาทิตย์เฉลี่ยต่อปี พบว่า บริเวณที่ได้รับรังสีดวงอาทิตย์สูงสุด (18-20 MJ/m2-day) จะอยู่ในบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดสิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สุรินทร์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ และร้อยเอ็ด เมื่อทำการเฉลี่ยความเข้มรังสีดวงอาทิตย์รายวันเฉลี่ยต่อปีของพื้นที่ทั่วประเทศ พบว่ามีค่าเท่ากับ 17.6 MJ/m2-day

  • ข้อดีของการหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์คืออะไร ?

    1) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ผลิตไฟฟ้าได้โดยไม่ต้องอาศัยการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล จึงก่อให้เกิดการเผาก๊าซ CO2 น้อยตลอดอายุการใช้งาน
    2) พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานที่ไม่มีวันหมด
    3) พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานสะอาด ที่ทุกคนเข้าถึงได้ และเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย
    4) พลังงานแสงอาทิตย์เบบติดตั้งบนหลังคาสามารถผลิตไฟฟ้าและช่วยลดบิลค่าไฟฟ้าได้
    5) ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากระบบพลังงานแสงอาทิตย์ไม่ก่อให้เกิดมลพิษสู่สภาพอากาศ (Zero Emission)